นิ่วในไต สังเกตทัน รีบรักษาก่อนไตพัง

15 Mar 2021

องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันไตโลก (World Kidney Day) รพ.กรุงเทพ ขอร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องไตให้ห่างไกลโรค นิ่วในไตเป็นสาเหตุสำคัญของโรคที่เกี่ยวกับไต สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ผู้ชายมีโอกาสพบได้มากกว่าผู้หญิง และช่วงวัยที่พบส่วนใหญ่คือ อายุ 30 - 40 ปี หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อจนเนื้อไตเสีย เกิดอาการไตเสื่อมและไตวายเรื้อรังได้ในอนาคต ควรปรึกษาแพทย์ รีบรักษาก่อนอาการรุนแรง

นิ่วในไต สังเกตทัน รีบรักษาก่อนไตพัง

นพ.สมเกียรติ พุ่มไพศาลชัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน โดยมักพบที่บริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากปัสสาวะเข้มข้นและตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้

การมีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติมีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารแคลเซียม โปรตีน เกลือ และน้ำตาลสูงเกินไป ดื่มน้ำน้อย ใส่น้ำตาลในเครื่องดื่มมาก หรือ กินอาหารที่มีสารออกซาเลตยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม อาทิ ถั่ว หน่อไม้ ช็อกโกแลต ผักปวยเล้ง มันเทศ ฯลฯ กินวิตามินซีมากเกินกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานหนักมากเกินไป หรือเกิดจากโรคแทรกซ้อนจากการเป็นโรคเกาต์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วนน้ำหนักเกิน และโรคเบาหวาน อาการแสดงคือ ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว ปวดหลังหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเสียด ปวดบิดเป็นพัก ๆ มีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน มีปัสสาวะขุ่นแดงเป็นเม็ดทราย ปัสสาวะบ่อย หรือเมื่อปัสสาวะแล้วจะเกิดอาการเจ็บ ถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไตจะมีอาการปวดในท้องรุนแรง แต่ในบางกรณีผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการแสดง

การตรวจวินิจฉัยมีหลายวิธี ได้แก่ 1) ตรวจปัสสาวะ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต 2) ตรวจเลือด ผู้ป่วยนิ่วในไต มักมีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดมาก 3) เอกซเรย์ช่องท้อง จะช่วยให้เห็นก้อนนิ่วบริเวณทางเดินปัสสาวะ 4) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก 4) อัลตราซาวนด์ไต ช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตได้ชัดเจน 4) ตรวจเอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (IVP) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดนิ่วในไตและสามารถวางแผนเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำ

การรักษาอาการนิ่วในไต ใช้วิธีการรักษาตามชนิดและสาเหตุ ได้แก่ 1) รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณายาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม 2) การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย วิธีนี้ควรรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด 3) การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาด 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Ureteroscopy เข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ขับออกมาทางปัสสาวะ 4) การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็กๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่อง เพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมา

ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ เริ่มจากเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ดื่มน้ำสะอาดให้มากเพื่อช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ เลี่ยงอาหารรสเค็ม ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย ผักก็ช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อค้นหาความเสี่ยง ป้องกันก่อนเกิดโรคได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 02-310-3009 หรือโทร. 1719 แอดไลน์ : @bangkokhospital