วิศวะมหิดล สร้างนวัตกรรม 5 ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC ส่งมอบ รพ. สนาม จังหวัดสมุทรสาคร ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

23 Feb 2021

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นวัตกร แพทย์และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต่างระดมกำลังคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด โดย จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดแรกที่มีการระบาดระลอกใหม่เนื่องจากเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศไทย จำนวน 25,599 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมในสมุทรสาคร 16,167 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.พ. 64)

วิศวะมหิดล สร้างนวัตกรรม 5 ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC ส่งมอบ รพ. สนาม จังหวัดสมุทรสาคร ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์, รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรและสื่อสารองค์กร และ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ พร้อมด้วยทีมงานวิศวกรได้ออกแบบ-ผลิตนวัตกรรมและส่งมอบ 5 ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC ให้แก่โรงพยาบาลสนาม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการกำจัดเชื้อไวรัสโควิดและเชื้อโรคตามหลักวิศวกรรม เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ช่วยสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้สมุทรสาครกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม คุณวิทยา พิพิธเดชา บริษัท พวพัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง หนึ่งในผู้อุทิศพื้นที่ของโรงงานกว่า 16 ไร่ จากทั้งหมด 27 ไร่ ให้ใช้เป็นโรงพยาบาลภาคสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 9 เพื่อการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยและพักฟื้นจำนวน 400 เตียง

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นวัตกรรมตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาของทีมงานวิจัย 10 คน ซึ่งมุ่งที่จะมีส่วนช่วยเหลือสังคมในวันที่ยากลำบากของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แนวคิดของตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC นี้ ใช้หลักการฉายแสงความยาวคลื่นต่ำ (UVC 220-280 นาโนเมตร) ส่งผลให้โครงสร้างทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสและเชื้อต่างๆถูกทำลาย ซึ่งตู้อบนี้ตอบโจทย์แก่ผู้ใช้งานในโรงพยาบาล, โรงงาน หรือแหล่งบริการต่างๆ โดยมีการใช้งานที่ยืดหยุ่น และต้องการประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัสและเชื้อชนิดต่างๆ เหมาะสมกับการอบฆ่าเชื้อ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดสวมป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หรืออุปกรณ์ใช้งานทั่วไป ถัง ตระกร้า เครื่องใช้ครัวเรือน ถุง เป็นต้น

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC มีขนาดความสูง 150 ซม. ส่วนประกอบหลัก มี 2 ระบบ คือ ระบบโครงสร้างทำจากอลูมิเนียมโปรไฟล์น้ำหนักเบาและพลาสติกอะคริลิคเพื่อป้องกันแสงออกสู่ภายนอก และระบบหลอดฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC โดยติดตั้งหลอด UVC 36 วัตต์ จำนวน 4 หลอด และชุดวงจรสวิตช์ หากฆ่าเชื้ออุปกรณ์และชุด PPE ใช้เวลา 30-60 วินาทีเท่านั้น โดยจัดวางไม่ให้เกิดการบังแสงรังสี เพื่อให้รังสีฉายลงบนชุดและอุปกรณ์ได้อย่างทั่วถึง

จุดเด่น ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC นี้ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐาน UVC ด้วยระบบหุ่นยนต์ โดย ศูนย์ FlexLab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการรับรองการฆ่าเชื้อขั้นต่ำที่ Log Reduction 3 (99.999%) มีน้ำหนักเบา ขนย้ายง่ายและใช้งานง่าย วิธีการใช้งาน 1. เปิดประตูตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC 2. นำสิ่งของ หรือชุดที่ต้องการฆ่าเชื้อใส่เข้าไปในตู้ 3. ปิดประตูตู้อบ 4. เปิดสวิตซ์ให้หลอดทำงาน 5. ตู้จะทำการฆ่าเชื้อประมาณ 30 - 60 วินาที (หากเปิดตู้ระหว่างหลอดทำงาน รังสี UVC จะดับในทันที) 6. เปิดประตูตู้อบ และนำของออก

ทั้งนี้มีข้อแนะนำ 1. ในการอบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC จำเป็นต้องให้รังสีตกกระทบกับพื้นผิวของวัสดุ หรือสิ่งของโดยตรง เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ หากไม่ตกกระทบโดยตรงให้ทำการจัดเปลี่ยนทิศทางวาง และอบฆ่าเชื้ออีกครั้ง 2. รังสี UVC นั้นมีความอันตรายต่อดวงตา และผิวหนังของมนุษย์ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสี 3. ในการอบฆ่าเชื้อด้วย UVC บางครั้งอาจจะมีกลิ่นอันเนื่องมาจากการระเหยของสารประกอบของวัตถุ หรืออากาศเมื่อสัมผัสกับรังสี

ส่วนในด้านการบำรุงรักษา สามารถทำความสะอาดหลอด UVC ด้วยผ้าแห้งสะอาด และให้มั่นใจว่าไม่มีคราบ หรือสิ่งสกปรกติดกับหลอด หมั่นตรวจสอบสายไฟ และอุปกรณ์ต่อพ่วงทางไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจว่าระบบอยู่ในสภาพที่ดีพร้อมในการใช้งาน

นับเป็นพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทย เพื่อช่วยเหลือคนไทยและเพื่อนมนุษย์ ฝ่าวิกฤติโควิดและปลอดภัยไปด้วยกัน

วิศวะมหิดล สร้างนวัตกรรม 5 ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC ส่งมอบ รพ. สนาม จังหวัดสมุทรสาคร ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์