พาณิชย์ เร่ง GIT บูรณาการทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการสินเชื่ออัญมณี เร่งเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทย

11 Feb 2021

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับไทยถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ และประเทศไทยก็ถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 ของโลก  ซึ่งผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และทำให้ยอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อกระตุ้น และเยียวยาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) เร่งสร้างบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับผ่านโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence: BWC) และการเร่งเดินหน้าโครงการสินเชื่ออัญมณีและเครื่องประดับ

พาณิชย์ เร่ง GIT บูรณาการทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการสินเชื่ออัญมณี เร่งเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.94  (ร้อยละ 16.52 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าหดตัวลงร้อยละ 40.09 (ร้อยละ 40.30 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิปรับตัวลดลงร้อยละ 38.92 (ร้อยละ 39.11 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท)

โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในปี 2563 คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ในสัดส่วนร้อยละ 73.34 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และมีมูลค่าเติบโตถึงร้อยละ 75.67 อันเป็นผลจากการส่งออกเพื่อทำกำไรในส่วนต่างของราคา เนื่องด้วยราคาทองคำในตลาดโลกตลอดรอบปีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี กระทั่งทำสถิติ New High ในเดือนสิงหาคม โดยราคาทองคำเฉลี่ยของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 1,769.64 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) ซึ่งปัจจัยหนุนราคาทองคำมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนหันมาเก็งกำไรในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจในหลายประเทศต่างประสบปัญหาจากการล็อคดาวน์ การผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี แม้ว่าช่วงปลายปีจะมีข่าวความคืบหน้าการผลิตวัคซีนเพื่อต้านไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งกองทุน SPDR Gold Trust และนักลงทุนมีการเข้าซื้อทองคำต่อเนื่องตลอดปี การส่งออไปยังตลาดหลักลดลง อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 18.18 เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ชาวอเมริกันจึงระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อีกทั้งมีผลกระทบต่อร้านค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีอยู่จำนวนมากต้องปิดหน้าร้านและสาขาชั่วคราว มีส่วนทำให้การนำเข้าสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศรวมทั้งไทยมีมูลค่าลดลง

สำหรับในปี 2564 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังต้องให้น้ำหนักกับทิศทางนโยบายของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งมีผลต่อการค้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดการระบาดรอบสองซึ่งรุนแรงกว่าเดิมในหลายประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้การกลับมาดำเนินธุรกิจต้องล่าช้าออกไป

แม้ว่าเศรษฐกิจโลก ปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่เป็นไปอย่างช้าๆ จากปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องมาจากปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดหนี้สาธารณะแต่ละประเทศที่สูงขึ้น ปัญหาการว่างงาน การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศจากกฎระเบียบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนทิศทางค่าเงินบาทในปี 2564 จะยังคงมีความผันผวนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลสำคัญอย่างดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ จำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด ผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อปรับกลยุทธ์เตรียมพร้อมรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ

"กระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เห็นถึงความเสี่ยงนี้ และมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก รวมถึงเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ จึงได้สั่งการให้ GIT เร่งบูรณาการร่วมกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สมาคมต่างๆ เพื่อหามาตรการในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากแหล่งเงินทุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ ทางสถาบันได้ก็มีการประสานไปยัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อเร่งผลักดันโครงการสินเชื่ออัญมณี ให้เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์ รวมทั้งการสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อ - ผู้ขายอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับและโลหะมีค่า (GIT STANDARD) และการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC) ซึ่งสถาบันได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ " นายสุเมธ กล่าวปิดท้าย