ก.แรงงาน ดึงเอกชน ร่วมสร้างช่างแอร์ไลเซนส์

04 Feb 2021

ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมบริษัทเอกชน ชวนช่างแอร์ ยกระดับ รับไลเซนส์ เน้นคุณภาพ

ก.แรงงาน ดึงเอกชน ร่วมสร้างช่างแอร์ไลเซนส์

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็กและช่างเชื่อมทิก เป็นอาชีพที่ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ช่างฝีมือในกลุ่มอาชีพดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมาย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งประชาสัมพันธ์ให้ช่างฝีมือเข้ารับการประเมินฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยในการทำงาน ลดอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ภายใต้การบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐ เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2563 กพร.ร่วมกับบริษัท มาเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในหลักสูตร การพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการทางด้านช่างเครื่องปรับอากาศสู่มืออาชีพ ดำเนินการแล้ว 1,440 คน ซึ่ง บริษัท มาเวลฯ ได้สนับสนุนเครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังให้หน่วยงานในสังกัด กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา เครื่องปรับอากาศ อีกด้วย และในปี 2564 มีเป้าหมายจัดฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการทางด้านช่างเครื่องปรับอากาศสู่มืออาชีพ ระยะเวลาการฝึก 8 ชั่วโมง ในพื้นที่33 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น บึงกาฬ สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา พิจิตร เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ชุมพร ตรัง พัทลุง ภูเก็ต สตูล ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ลพบุรีสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ มุ่งเน้นการสร้างช่างแอร์ไลเซนส์หรือช่างแอร์ที่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบด้วย (1) ความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ ทัศนคติในการทำงานพิจารณาผลผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (2) ประสบการณ์ด้านการประกอบอาชีพเช่น การศึกษา การทำงาน การฝึกอบรม การสัมมนา (3) คุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน ต้องได้ 85 คะแนนขึ้นไป จาก 100 คะแนนเต็ม จึงจะผ่านการประเมิน และได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เพื่อการันตีฝีมือและเพิ่มความปลอดภัยต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ ช่างฝีมือในกลุ่มอาชีพข้างต้นที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรม หรือประเมินความรู้ความสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สพร.และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 อธิบดี กพร.กล่าว

ก.แรงงาน ดึงเอกชน ร่วมสร้างช่างแอร์ไลเซนส์