อว.โดย วศ.เร่งพัฒนาห้องทดสอบมาตรฐานรองรับ PAPR ฝีมือคนไทยช่วยลดค่าจ่ายใช้ในการทดสอบจากต่างประเทศ

22 Jan 2021

ดร.กรธรรม สถิรกุล หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์และระบบอัตโนมัติ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 ทำให้อุปกรณ์ PAPR ที่ใช้ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ จึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนหนึ่งได้พัฒนา PAPR ขึ้นเองในประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ตรวจและดูแลรักษาผู้ป่วยจากการระบาดของ Covid-19 ได้ใช้ในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ

อว.โดย วศ.เร่งพัฒนาห้องทดสอบมาตรฐานรองรับ PAPR ฝีมือคนไทยช่วยลดค่าจ่ายใช้ในการทดสอบจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากผ้า ชุด PPE อย่างชุด surgical gown และ ชุด cover-all ซึ่งในส่วนของ PAPR นั้น วศ. ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่างข้อกำหนดคุณลักษณะของ PAPR สำหรับใช้ทางการแพทย์ โดย อวศ.ได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และในส่วนของการทดสอบ PAPR นั้น วศ.กำลังดำเนินการจัดหาเครื่องมือทดสอบที่จำเป็นและจัดสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบชุด PPE รวมถึง PAPR ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในปีงบประมาณ 2564 ประกอบกับ วศ. ตระหนักถึงความต้องการทดสอบ PAPR โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงดำเนินการรวมสรรพกำลังและทรัพยากรต่างๆ จาก วศ. และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อจัดสร้างเครื่องมือและวิธีการทดสอบที่สามารถใช้ในการทดสอบ PAPR แบบ in-house method ได้ในเวลาจำกัดไปพลางก่อน

ดร.กรธรรม กล่าวอีกว่า วศ. และหน่วยงานความร่วมมือ ได้สร้างเครื่องมือและประยุกต์ใช้เครื่องมือขึ้นเองจากทรัพยากรที่มีอยู่ แม้ว่าเครื่องมือและวิธีการอาจจะไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนด แต่เป็นวิธีการใช้ห้องปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ซึ่งสามารถทดสอบสมรรถนะการทำงานของ PAPR ได้จริง โดย วศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และ บริษัท Q&E จำกัด พัฒนาและทดลองทดสอบ PAPR พารามิเตอร์ในส่วนของการทดสอบการรั่วซึม (total inverse leakage) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. และ 18 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่าง PAPR เพื่อมาทำการทดลองและทดสอบจาก บริษัทแม่น้ำแมคคานิกา บริษัท ฮอนด้า ประเทศไทย ซึ่งการทดสอบผ่านไปได้ด้วยดี และ วศ.ได้ข้อมูลจากการทำกิจกรรมนี้เพื่อจะสามารถปรับปรุงเครื่องมือให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับผลการทดสอบโดยเบื้องต้นนั้น PAPR ที่คนไทยพัฒนาขึ้นนี้ พบว่ามีสมรรถนะในการกรอง และการกันการซึมเข้า (inverse leakage) ได้ตามเกณฑ์กำหนดอย่างดี แต่ยังต้องสร้างเครื่องมือเพื่อทดสอบพารามิเตอร์อื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะได้ช่วยกันพัฒนาในเวลาต่อไป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีหน่วยงานมาติดต่อขอใช้บริการทดสอบ PAPR แล้วโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ Covid -19 ทั้งนี้ อนาคตหากปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย การทดสอบ PAPR ดังกล่าว ก็ยังสามารถใช้ได้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย โดยขณะนี้ วศ. กำลังดำเนินการเพื่อให้ได้รับการ recognized lab จาก อย. และพร้อมให้บริการทดสอบได้อย่างเป็นทางการ รวมทั้งได้ทดสอบ EMC กับทาง PTEC สวทช. เพื่อให้การทดสอบ PAPR ได้พารามิเตอร์ครบสมบูรณ์ต่อไป

อว.โดย วศ.เร่งพัฒนาห้องทดสอบมาตรฐานรองรับ PAPR ฝีมือคนไทยช่วยลดค่าจ่ายใช้ในการทดสอบจากต่างประเทศ