รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าประมงปลอดภัยในพื้นที่ตลาดไท หวังผลักดันเป็น "ตลาดประมงปลอดภัย GAP"

20 Jan 2021

รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าประมงปลอดภัยในพื้นที่ตลาดไท หวังผลักดันเป็น "ตลาดประมงปลอดภัย GAP" และเป็นโมเดลต้นแบบในการขยายไปสู่ตลาดในภูมิภาคอื่น

รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าประมงปลอดภัยในพื้นที่ตลาดไท หวังผลักดันเป็น "ตลาดประมงปลอดภัย GAP"

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าประมงปลอดภัยในพื้นที่ตลาดไท ณ ตลาดไท ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สร้างความตื่นตระหนกต่อพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 จนถึงขณะนี้มีการติดเชื้อของประชาชนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและสถานที่ที่มีการติดเชื้อ ได้แก่ ตลาดซื้อขายสัตว์น้ำ จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผลกระทบมาถึงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดสำคัญ ได้แก่ กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม และปลากะพงขาว ซึ่งจะต้องส่งผลผลิตเข้าไปในตลาดสมุทรสาครจำนวนมาก ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีสถานที่จำหน่าย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้เล็งเห็นปัญหาและผลกระทบดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับตลาดไทจัดพื้นที่ทำเลที่ดีที่สุด ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนำผลผลิตจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP มาจำหน่ายในลักษณะขายส่ง เพื่อให้เกิดตลาดที่มีคุณภาพของสินค้าที่ผู้บริโภคเชื่อถือได้ และมีกระบวนการดำเนินการที่เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการป้องกันและคัดกรองเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่ผู้มาทำกิจกรรมเกิดความมั่นใจ โดยตลาดไทได้ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ให้กับเกษตรกรเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม - 20 เมษายน 2564 สำหรับลูกค้าที่ต้องการเข้ามาซื้อสินค้าสัตว์น้ำ "ตลาดประมงปลอดภัย GAP" ตลาดจะเริ่มจำหน่ายสินค้า เวลา 04.00 - 11.00 น. (เกษตรกรเข้าตลาดได้ 02.00 น.) ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ความสนใจและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมจำหน่ายสินค้า จำนวน 20 กลุ่ม แบ่งออกเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนาไม จำนวน 7 กลุ่ม กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จำนวน 12 กลุ่ม และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาว จำนวน 1 กลุ่ม โดยเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา ปริมาณสัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายเริ่มต้นที่วันละ 5 ตัน หรือ 5,000 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาต่อไป

"ผมขอชื่นชมและขอบคุณตลาดไท ที่ได้ให้โอกาสเกษตรกรและร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเปิดพื้นที่ตลาดประมงปลอดภัย GAP ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายและจัดระบบตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อด้วยสินค้าที่มีการรับรอง GAP ทุกราย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบให้ขยายไปสู่ตลาดในภูมิภาคอื่นด้วยเช่นกัน จึงได้มอบหมายให้แต่ละพื้นที่จังหวัดไปดำเนินการเรื่อง Demand Supply ในพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้ทางกรมประมงดูการกระจายสินค้าและผลผลิตในภาพรวมที่ไม่ให้เกิดผลกระทบเรื่องราคาด้วย" นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จนทำให้เกิดผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น ที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขโดยการเปิดพื้นที่กรมประมงให้เกษตรกรมาขายกุ้ง และในส่วนของภูมิภาคได้ให้สำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศเปิดให้เกษตรกรมาขายกุ้งโดยตรง ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ม.ค. 64) สามารถระบายผลผลิตช่วยเหลือเกษตรกรไปได้ถึง 284,131 กิโลกรัม มูลค่า 55,693,850 บาท นอกจากนี้ ยังมีการขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้ง และประสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนในการช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจในการบริโภคกุ้งและสินค้าสัตว์น้ำและช่วยเป็นแหล่งจำหน่ายกุ้งอีกด้วย

"สำหรับการดำเนินการร่วมกับตลาดไทในครั้งนี้ จะเป็นอีกช่องทางการกระจายสินค้าสัตว์น้ำให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในอนาคตคาดหวังที่จะผลักดันให้ "ตลาดประมงปลอดภัย GAP" เป็นศูนย์กลางค้าส่งสินค้าสัตว์น้ำแห่งใหม่ เพื่อกระจายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไป" นายมีศักดิ์ กล่าว