"ครูกัลยา" สั่งเร่งคลอดหลักสูตร โค้ดดิ้ง เพื่อคนตกงาน รับมือวิกฤตโควิด-19 ช่วยประชาชนสามารถ คิด-วิเคราะห์-วางแผน เร่งหางานและเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

07 Jan 2021

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งเร่งจัดทำหลักสูตร โค้ดดิ้ง สำหรับคนตกงาน รับมือวิกฤตโควิด-19 ช่วยประชาชนให้สามารถ คิด-วิเคราะห์-วางแผน หางานและรายได้ให้กับตัวเอง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งในปีงบประมาณ 2564 ให้ได้มากที่สุดสำหรับคนไทยทุกช่วงวัย

"ครูกัลยา" สั่งเร่งคลอดหลักสูตร โค้ดดิ้ง เพื่อคนตกงาน รับมือวิกฤตโควิด-19 ช่วยประชาชนสามารถ คิด-วิเคราะห์-วางแผน เร่งหางานและเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลับมาอีกครั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องลดพนักงาน เลิกจ้าง ไปจนถึงปิดตัวเองลง หลายคนตกงาน เดือดร้อน ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียน Coding แห่งชาติครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2563 จึงได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ไปหารือและจัดทำหลักสูตร "โค้ดดิ้ง (Coding) สำหรับคนตกงาน" เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ทักษะโค้ดดิ้งในการคิดวิเคราะห์ หาทางออกในชีวิตได้ด้วยตนเอง สามารถหารายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ตอบโจทย์ความต้องการในยุคโควิด หรือทำอาชีพเสริมให้กับตนเองต่อไป

"ดิฉันอยากรีบทำตรงนี้ ให้เสร็จเร็วที่สุด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนอย่างมาก ซึ่งถ้าประชาชนมีทักษะโค้ดดิ้งแล้วเชื่อว่าจะสามารถคิดวิเคราะห์เป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุมีผล และหาทางออกให้กับตนเองได้ ทำให้คิดอย่างเป็นระบบว่าเมื่อตนเองได้รับผลกระทบ หรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต จะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุได้รวมถึงสามารถวางแผนได้ว่า ต้องประกอบอาชีพอะไรเพื่อให้ตัวเองมีรายได้ หรือลดผลกระทบ ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด"ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งในปีงบประมาณ 2564 นั้นได้วางแผนให้ขับเคลื่อนการเรียนการสอนโค้ดดิ้งให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นการเรียนการสอนโค้ดดิ้งไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่จะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด "Coding for All" เพราะไม่ว่าใครก็ตามจะต้องเรียนรู้และเข้าใจการคิดอย่างเป็นระบบ และนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล คิดเป็นขั้นเป็นตอน แก้ปัญหาเป็น และถือเป็นการเตรียมคนในศตวรรษที่ 21 อย่างรู้เท่าทันดิจิทัลอีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (โค้ดดิ้ง) แห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการอำนวยการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ และการเรียนโค้ดดิ้ง 2.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจและการรับรู้เพื่อพัฒนาความสามารถ ทักษะ และการเรียนโค้ดดิ้ง และ 3.คณะอนุกรรมการประสานงานร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินงานมีความก้าวหน้าพร้อมที่จะขับเคลื่อนและผลักดันการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับคนไทยทุกช่วงวัย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit