กทปส. โชว์ความพร้อมป้องกันแพทย์จากโควิด-19 ระลอกใหม่ "ห้องความดันลบ - หุ่นยนต์ผู้ช่วย" เสริมกำลังทีมแพทย์ รพ.ม.นเรศวร

21 Jan 2021

กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โชว์ศักยภาพ 2 นวัตกรรมป้องกันแพทย์จากโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ "ห้องแรงดันลบ" ห้องแรงดันลบแบบปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิมด้วยไอโอที ช่วยทีมแพทย์วัดสัญญาณชีพ-สัญญาณสรีระวิทยา พร้อมติดตามผลระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ และ "หุ่นยนต์ผู้ช่วย" ที่มาพร้อมแอปฯ คัดกรองโรค แบบเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ล่าสุดพร้อมใช้งานจริงแล้ว ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยนวัตกรรมดังกล่าว ได้รับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการ "เพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ รองรับการระบาดของโรคโควิด-19" รวมมูลค่ากว่า 18 ลบ. ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามเงื่อนไขและช่วงเวลาที่เปิดยื่นขอรับการสนับสนุนได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th หรือติดต่อ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต โทร. 02-554-8113 และ 02-554-8115

กทปส. โชว์ความพร้อมป้องกันแพทย์จากโควิด-19 ระลอกใหม่ "ห้องความดันลบ - หุ่นยนต์ผู้ช่วย" เสริมกำลังทีมแพทย์ รพ.ม.นเรศวร

นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งรัฐบาลต้องยกระดับมาตรการควบคุมขั้นสูงสุดในหลายพื้นที่ "นวัตกรรมทางการแพทย์" จึงถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ที่ช่วยบรรเทาและสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ในทุกมิติ ทั้งในเชิงการรักษาพยาบาล และการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคคล กทปส. ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ภายใต้โครงการ "เพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ รองรับการระบาดของโรคโควิด-19" แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยที่ล่าสุด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) หนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนงบฯ รวม 18,144,880 บาท มีความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์ และป้องกันแพทย์จากโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่าน 2 นวัตกรรม ดังต่อไปนี้

  • ห้องแรงดันลบ (Cohort Ward with IoT) จำนวน 8 ห้อง ห้องแรงดันลบแบบปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิม ด้วยระบบไอโอที (IoT) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งมาพร้อมระบบการแสดงผลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถวัดสัญญาณชีพ-สัญญาณสรีระวิทยา ตลอดจนติดตามและประเมินผลการรักษาได้ในระยะไกล (Telemedicine) และเรียลไทม์ (Realtime)
  • หุ่นยนต์ผู้ช่วย (Robot assistant) จำนวน 1 ชุด หุ่นยนต์ผู้ช่วยหมอ ที่มาพร้อมแอปพลิเคชันคัดกรองโรค สำหรับช่วยงานรักษาพยาบาล เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างบุคคล

อย่างไรก็ดี กทปส. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พัฒนาบุคลากรและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะสนับสนุนทุนต่อไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนในทุกมิติ โดยล่าสุดในปี 2564 กทปส. มีแผนจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนางานวิจัย/นวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสังคมและสร้างประโยชน์สาธารณะรับยุคดิจิทัล ในวงเงินรวม 1.1 พันล้านบาท ครอบคลุม 2 ประเภททุน ได้แก่ ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) โครงการที่เกิดจากผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุน และ ทุนประเภทที่ 2 โครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามเงื่อนไขและช่วงเวลาที่เปิดยื่นขอรับการสนับสนุนได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th หรือติดต่อ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต โทร. 02-554-8113 และ 02-554-8115 นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขที่สนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต โทร. 02-554-8113 และ 02-554-8115 หรือติดตามความเคลื่อนไหวโครงการของผู้รับทุน และกิจกรรมต่าง ๆ ของ กทปส. ได้ที่ www.facebook.com/BTFPNEWS และ https://btfp.nbtc.go.th