" อุทยานการเรียนรู้ จุดประกาย ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เติมชีวิตให้ห้องสมุดในแบบฉบับของตนเอง"
ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ๑๖:๕๕ น.การสัมมนาเรื่อง " เติมชีวิตให้ห้องสมุด ในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้ กรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ และประเทศไทย " จัดขึ้นที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษร่วมกับวิทยากรอีก 3 ท่าน ได้แก่ มิสเกรซ เคมสเตอร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริการข้อมูลของ บริติช เคาน์ซิล ประเทศอังกฤษ มิส เต้ ไอเช็ง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานบริการห้องสมุดสาธารณะ ของคณะกรรมการ หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 200 คน
ดร.สิริกร มณีรินทร์ กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการในการจัดตั้งและการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิต ในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้" ว่าห้องสมุดมีชีวิตต้องประกอบด้วย องค์ประกอบด้านกายภาพ คือการออกแบบตกแต่งสถานที่ให้มีความสวยงามทันสมัย ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน คมนาคมสะดวก ปลอดภัยและมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า1,000 ตารางเมตร องค์ประกอบด้านสาระและกิจกรรม นอกจากหนังสือแล้วยังต้องมี สื่อการเรียนรู้อื่นๆ ซีดี วีซีดี อินเตอร์เน็ต ออนไลน์ และ อี-ไลเบอร์รี่ เพื่อสนองความต้องการการเรียนรู้ของเยาวชนเป็นหลัก และ องค์ประกอบด้านการบริหารจัดการ ต้องประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ท้องถิ่นและ เครือข่ายเยาวชน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานและประสานความร่วมมือกัน เพื่อเติมสีสัน ให้กับห้องสมุดให้มีชีวิตในแบบฉบับของตนเอง
ด้านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตทั้ง 3 ท่านต่างก็มีมุมมองและประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันออกไปเช่น มิสเกรซ เคมสเตอร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริการข้อมูลของบริติช เคาน์ซิล สำนักงานใหญ่ หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้กว่า 50 แห่งในอังกฤษ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "สโมสรพรีเมียร์ลีกสร้าง ห้องสมุดมีชีวิตได้อย่างไร" ได้นำกรณีศึกษาเรื่องกีฬายอดนิยมฟุตบอลช่วยพัฒนา และส่งเสริมการอ่านของชาวอังกฤษอย่างไร โดยใช้กีฬาฟุตบอลมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้เด็กหันมาสนใจการเรียนรู้และการอ่านเพิ่มมากขึ้น ผ่านกิจกรรมรีดดิ่งเดอะเกม Reading the Game โดยนำตัวอย่างความสำเร็จจากสโมสรเอเวอร์ตัน ที่ได้เริ่มโครงการนี้มากว่า 3 ปี และได้รับความสนใจจากเยาวชนอังกฤษเป็นอย่างมาก โดยให้นักฟุตบอลมาเป็นบุคคลต้นแบบ หรือ Reading Champions อาทิ David Weir, Ryan Griggs เป็นแรงผลักดันในการอ่านของเด็กๆ รวมถึง ผู้ใหญ่ เพราะต้องการเลียนแบบผู้ที่ตนชื่นชมสโมสรใน พรีเมียร์ลีก 20 สโมสรทำงานร่วมกับบรรณารักษ์ และโรงเรียนอย่างใกล้ชิด สำหรับกิจกรรมรีดดิ้งเดอะเกม จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 10 สัปดาห์ นักฟุตบอลเยี่ยมห้องเรียน นักเรียนเข้าชมสนามกีฬา และการรายงานหน้าห้องครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีการมอบรางวัลในตอนท้าย บางสโมสรมีการจัดประชุมกลุ่มร่วมกับนักเรียน และผู้ใหญ่ที่ห้องสมุด ทุกครั้งที่มีการประชุมทุกคนจะอยู่ต่อ เพื่อคัดเลือกหนังสืออ่านเพิ่มเติม 96% ของเด็กๆ ทั้งหมดรู้สึกอยากอ่านหนังสือมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีกับสโมสรฟุตบอลยังช่วยให้ห้องสมุดได้รับการพัฒนาไปด้วย อาทิ สโมสรมอบเสื้อและลายเซ็นนักฟุตบอลให้ห้องสมุดนำไปแสดงเป็นนิทรรศการ การให้เด็กๆ เยี่ยมชมสโมสร และนักฟุตบอลเดินทางไปเยี่ยมห้องสมุดทำให้เยาวชนสนใจห้องสมุดมากยิ่งขึ้น เพราะได้ทำความรู้จักโดยผ่านสื่อกลางที่สนใจและสะดวกใจคือ ฟุตบอลนั่นเอง นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ อาทิ เว็บไซต์ 4ureaders.net ซึ่งแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 3 โซนสำหรับความสนใจที่แตกต่างกันในเว็บไซต์เดียว โดยสรุปก็คือสโมสรพรีเมียร์ลีกสร้างห้องสมุดให้มีชีวิตได้ โดยนำฟุตบอลที่เยาวชนชื่นชอบมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนมีความสุขจากการอ่านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในรูปแบบใหม่นั่นเอง สำหรับอุทยานการเรียนรู้ของประเทศไทยนั้น ตนได้ไปชมแล้ว จัดเป็นห้องสมุดระดับ World Class และเป็นต้นแบบที่ทั่วโลกจะต้องจับตามองทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในอุทยานการเรียนรู้ที่มี ความตั้งใจมุ่งมั่นในการทำงาน การดูแลเอาใจใส่ผู้มาใช้บริการอย่างดี "
มิส เต้ ไอ เช็ง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานบริการห้องสมุดสาธารณะของคณะกรรมการหอสมุด แห่งชาติสิงคโปร์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการห้องสมุดมากว่า 20 ปี นำกรณีศึกษาหัวข้อ " ห้องสมุดพัฒนา ศักยภาพและสังคมแห่งการเรียนรู้ของสิงคโปร์ " กล่าวถึงปัจจัยหลักในการส่งเสริมให้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดและแบ่งเวลาให้กับการอ่านมากขึ้น ก็คือ รู้จักและเข้าใจถึงความต้องการของผู้มาใช้บริการมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของเจ้าหน้าที่ในห้องสมุดทุกคน ให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้มาใช้บริการห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานไอที พนักงานทำความสะอาด จะต้องเข้าใจถึงหลักการบริการขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เพราะผู้มาใช้บริการห้องสมุดมิได้สนใจว่าใครทำหน้าที่อะไร ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจึงต้องมีความรู้พร้อมที่จะตอบคำถาม และให้คำแนะนำแก่ผู้มาใช้บริการได้ นอกจากนี้แล้วยังต้องมีกลยุทธ์ในการให้บริการห้องสมุดที่ชัดเจน ว่าควรจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ มีการฝึกการอบรม มีปณิธานในการทำงานอย่างมั่นคง แม้ว่าจะเป็นห้องสมุดของภาครัฐบาล แต่ขณะนี้ได้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมขององค์กรใหม่ มีการโครงการ Staff Makeover จัดอบรมพนักงานให้เข้าใจว่า ผู้มาใช้บริการห้องสมุดเป็นลูกค้า มีการเปลี่ยนโฉมรูปลักษณ์ของห้องสมุดให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้ยังมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นำให้กิจกรรมการอ่านไปร่วมกับโครงการอื่นๆ อาทิ Romance Corner ในห้องสมุด โดยให้ห้องสมุดเป็นหนึ่งในแหล่งนัดพบ สำหรับบริการของหน่วยงานสรรหาคู่ครอง ให้มาพบปะและแลกเลี่ยนความคิดความเห็น รวมทั้งมาทำกิจกรรมการอ่านร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้วยังกระตุ้นให้ผู้มาใช้บริการเกิดความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาช่วยในด้านปฎิบัติการของห้องสมุด มีการจัด Bin Allocation ทั้งนี้จากการศึกษาที่คนส่วนใหญ่สนใจในหนังสือที่เพิ่งนำกลับมาคืน ดังนั้นก่อนที่จะจัดแยกเก็บตามชั้น ก็ได้มีชั้นวางหนังสือโดยมีป้ายเด่นชัดว่าเป็นหนังสือ ที่คนอื่นนำมาคืนตนเองได้ไปชมอุทยานการเรียนรู้แล้ว รู้สึกประทับใจกับการออกแบบและตกแต่งเป็นอย่างมาก และคิดว่าเป็นสถานที่ที่รวมทุกอย่าง เพื่อการเรียนรู้ได้ครบในหนึ่งแห่ง ห้องสมุดที่สิงคโปร์ยังไม่มีโซนในการให้บริการที่หลากหลายมากเท่านี้"
กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองของห้องสมุดมีชีวิตในแบบห้องสมุดมารวย "เงินมิใช่ปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดมีชีวิตจิตใจได้ เพียงแต่ทีมงานและผู้บริหารห้องสมุด จะต้องมีหัวใจในการทำงาน ทุกห้องสมุดต่างก็มีชีวิต และมีหัวใจเหมือนกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 หลักใหญ่ คือ สถานที่ ที่ให้ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ อาจจะเป็นความตื่นเต้น ความอบอุ่น ความสะดวกสบาย แม้จะออกแบบหรือตกแต่งแบบ เรียบง่าย หนังสือหรือมัลติมีเดีย ที่มีประโยชน์ให้ความรู้ และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ บุคลากรที่มีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยสร้างห้องสมุดให้มีชีวิตอย่างเต็มที่"
ความชัดเจนจากการสัมมนาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีเงินทองมากมายเพียงใด ก็คงไม่สามารถเติมชีวิตให้กับห้องสุมดในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้ได้ แต่หัวใจที่รักการอ่าน รักหนังสือและพร้อมที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เพื่อเยาวชนต่างหาก คือพลังสำคัญ ที่จะผลักดันให้ห้องสมุดมีชีวิตเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วประเทศไทย พร้อมกับความเจริญงอกงามทางปัญญาและพัฒนาการอย่างสร้างสรรค์ของเด็กไทยในอนาคต
1. บำรุง สุวรรณโชติ 2. พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ 3. ประณีต บุญมี 4. ดร.สิริกร มณีรินทร์ 5. มิส เกรซ เคมสเตอร์ 6. มิส เต้ ไอ เช็ง 7. สุวารี วงค์กองแก้ว 8. กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กันตนา กรุ๊ป ชวนเด็กไทยตื่นตา ตื่นใจ ร่วมสัมผัสความมหัศจรรย์กับตัวการ์ตูนแอนิเมชั่น ในกิจกรรม วันเด็กแห่งชาติ เสาร์ที่ 8 มกราคม นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมชมภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นจากทั่วทุกมุมโลกเกือบ 40 เรื่องฟรี ในง...