เรียนรู้ทักษะชีวิต - พื้นฐานอาชีพจากเรื่อง "กล้วยๆ " เพิ่มมูลค่าวัสดุในท้องถิ่น ที่ “โรงเรียนบ้านเขายายกะตา”

07 May 2015

จากกิจกรรมบูรณาการโครงงานสาระท้องถิ่นกล้วย...พืชล้ำค่าคู่บ้านเขายายกะตา” ที่ทาง สสค. ให้การสนับสนุนมาเมื่อหลายปีก่อน จึงทำให้เด็กๆ ใน “โรงเรียนบ้านเขายายกะตา” อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ได้เรียนเรียนรู้เรื่องราวของ “กล้วย” ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การปลูก ดูแล และการนำมาแปรรูป เพิ่มมูลค่า ทั้งการทำกล้วยตาก ทำปุ๋ย ห่อของ ฯลฯ ที่สามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เป็นจำนวนมาก

ผลสำเร็จดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้คณะครูเกิดความคิดที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพจากกล้วยให้กับนักเรียนมากขึ้น โดยจัดทำ “โครงการสร้างอาชีพจากวัสดุในท้องถิ่น” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ภายใต้ “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” เพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากกล้วยกอเดิม เพื่อสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างอย่างยั่งยืน

นางสาวทักษพร วงศ์เครือ ครูผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า โครงการนี้เป็นการตอบโจทย์และแก้ปัญหาของโรงเรียนได้โดยตรง เพราะเด็กที่นี่โอกาสเรียนต่อค่อนข้างน้อย อย่างมากก็ไปเรียนต่อทางสายวิชาชีพ ที่ผ่านมาเราพบว่า นักเรียนร้อยละ 40 เมื่อเรียนจบ ม.3 จะต้องออกไปทำงานเลย ดังนั้นทักษะในเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการรู้จักนำสิ่งของรอบตัว หรือนำผลผลิตจากทรัพยากรท้องถิ่นที่ไม่ต้องลงทุนมากมาประยุกต์ใช้สร้างรายได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“ครูและนักเรียนก็เป็นคนพื้นที่จึงเข้าใจธรรมชาติของที่นี่ดี เราจึงพยายามให้ความสำคัญเรื่องของการคิดมากกว่าการทำเลียนแบบ โดยต่อยอดแนวคิดจากโครงการแรกที่สอนเรื่องการปลูกและนำกล้วยมาแปรรูปเป็นของสดทำเป็นภาชนะ ทำบายศรี หรือทำเป็นอาหารต่างๆ แต่ด้วยความเป็นของสดจึงทำให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้ไม่นาน พอมาถึงโครงการนี้จึงเน้นไปที่การสร้างอาชีพแปรรูปของสดให้เป็นของแห้งที่ไม่เพียงแต่จะสามารถยืดอายุในการเก็บได้นานมากขึ้น แต่ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกด้วย” ครูทักษพร ระบุ

โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนรู้จาก 4 กิจกรรมที่สนใจ ได้แก่ “อาหารแปรรูปจากกล้วย” ที่นำกล้วยตากที่ได้จากโครงการแรกมาพัฒนามาเป็น คุ้กกี้กล้วยตาก โดยมีเจ้าของร้านเบเกอรี่ใน จ.ลพบุรีมาเป็นวิทยากรสอนให้กับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “การสานตะกร้าด้วยเชือกกล้วย” โดยชาวบ้านในท้องถิ่นนำภูมิปัญญาสานตะกร้าด้วยเชือกเทียนนำมาประยุกต์สอนการสานด้วยเชือกกล้วยให้กับเด็กๆ แทน

รวมไปถึงกิจกรรมงานช่างที่ชาวบ้านมาช่วยกันสอนให้เด็กได้รู้จักนำวัสดุท้องถิ่นอย่างกะลามะพร้าวที่หาได้ทั่วไปมาสร้างสรรค์กลายเป็น “โคมไฟกะลา” ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของโรงเรียน และการทำ “สมุดบันทึกจากกระดาษใยกล้วย” ที่ เด็กๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก“การทำกระดาษจากใยกล้วยนั้นเป็นเรื่องใหม่และค่อนข้างยาก เราต้องศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่งรวมทั้งจากอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ ต่างๆ ต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งจนสำเร็จ โดยการนำกาบกล้วย จากลำต้นมาต้ม แล้วนำมาปั่นเอาเส้นใย จากนั้นจึงเอามาย้อมสี และทำเป็นแผ่นกระดาษ ก่อนจะพัฒนามาทำเป็นสมุดบันทึกสีสวย หรือกล่องใส่ทิชชู” ครูทักษพร เล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน

นางสาวจุฑาทิพย์ พิศาภาค ครูผู้ช่วยกล่าวถึงความสามารถของเด็กๆ ในการทำงานว่า พวกเขาทำได้ดีกว่าที่ครูคิด เพียงปีเดียวเด็กก็สามารถลงมือทำและพัฒนาต่อได้ดีมาก สามารถแก้ปัญหาในเรื่องกระดาษแผ่นหนาไม่เรียบขรุขระได้ด้วยการปั่นเยื่อกาบกล้วยให้ละเอียดมากขึ้น และยังผสมสีใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาจะรู้ดีกว่าครูว่า สีไหนขายได้ สีไหนวัยรุ่นชอบ

“นอกจากกระบวนการผลิตแล้ว นักเรียนจะต้องเรียนรู้เรื่องการขาย และการบริหารงานบริหารเงิน โดยคณะครูจะพากลุ่มนักเรียนไปฝึกประสบการณ์จริงที่ตลาดนัด และกลับมาเช็คสต๊อกทำบัญชีสินค้า เราโชคดีที่เจ้าของตลาดนัดในตัวอำเภอลำนารายณ์ ให้การสนับสนุนเด็กๆ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ อาทิตย์แรกเด็กก็เขินขายของไมได้เลย แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ข้าง เช่น เห็นแม่ค้าติดป้ายราคาเขาก็ทำบ้าง เริ่มหัดส่งเสียงเรียกลูกค้า เริ่มรู้ว่าต้องเรียงของวางโชว์อย่างไร เด็กๆ มีทักษะการทำงานดีขึ้น รู้หน้าที่ กล้าแสดงออก ขยันขันแข็ง สนุกกับการทำงานโดยไม่ต้องต้องเคี่ยวเข็ญ มีน้ำใจ และรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" ครูจุฑาทิพย์กล่าว

“น้องนุ่น” ด.ญ.วาสนา พูลหนองกุง นักเรียนชั้น ม. 2 เล่าประสบการณ์การทำกระดาษและสมุดใยกล้วยว่า "ตอนแรกทำไม่เป็น แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ชำนาญ เป็นกิจกรรมที่สนุกไม่เบื่อเลย พวกเราชอบคิดสีใหม่ๆ ขึ้น ตอนแรกคิดว่าแค่ทำโชว์ครูเฉยๆ พอรู้ว่า ต้องไปขายที่ตลาดเองด้วยก็ตื่นเต้น เพราะไม่เคยขายของมาก่อน แต่ไม่อายเพราะเป็นของที่เราทำเองจากมือ เงินที่ได้ก็เอามาซื้อเป็นวัสดุมาทำงานต่อ ชอบทั้งลงมือทำและขายเพราะเห็นทั้งกระบวนการสามารถเอามาทำเป็นอาชีพได้"

“น้องมุก” ด.ญ.ธนพร นาบุญ นักเรียนชั้นม. 3 เล่าว่า "เลือกทำคุ้กกี้เพราะสนุกและมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก คิดว่าถ้าเราทำเองเป็นก็สามารถหารายได้ได้ มีการดัดแปลงจากคุ้กกี้ธรรมดาให้เป็นคุ้กกี้กล้วยตาก โดยนำกล้วยตากที่เราทำกันเองมาใช้ด้วย ตอนไปขายใหม่ๆ ก็อายที่ต้องตะโกนเรียกลูกค้าแต่ตอนนี้ไม่อายแล้ว ตอนเทศกาลต่างๆ จะมีคนมาสั่งให้ทำเยอะมาก อยากให้มีโครงการนี้ต่อๆไปและคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วมีเวลาว่างจะกลับมาสอนน้องๆ ด้วย"

“โครงการสร้างอาชีพจากวัสดุท้องถิ่นนี้ เด็กๆ ไม่เพียงแต่จะได้ฝึกทักษะอาชีพ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องความเป็นเกษตรกร งานฝีมือด้านศิลปะ ด้านอาหาร หรือการค้าขายแล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิต ฝึกความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ยังได้เห็นคุณค่าของเงิน ซึ่งเราหวังว่า เด็กๆ จะได้นำประสบการณ์ที่ได้รับนี้ไปต่อยอด และพัฒนาสู่อาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว และเป็นพลังที่ดีให้กับชุมชนสืบไป” ครูทักษพร หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit