การรักษาที่นำความหวังใหม่สู่ผู้ป่วยโรคปอดร้ายแรง

25 Nov 2016

โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคที่ลุกลามและเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยทำให้เกิดแผลเป็นในปอดอย่างถาวร หายใจลำบาก และปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญของร่างกายลดลง เนื่องจากแผลเป็นที่เกิดขึ้นในปอดไม่สามารถกลับสภาพมาเป็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้น ทางเลือกในการรักษาโรคดังกล่าวจึงมีเพียงการปลูกถ่ายปอดเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการรักษาแบบใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุทั่วโลกจะมีอายุมากกว่า 50 ปี และเป็นเพศชายมากกว่าหญิง (6, 7)

การรักษาที่นำความหวังใหม่สู่ผู้ป่วยโรคปอดร้ายแรง

โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาการต่างๆ เช่น หายใจลำบากขณะทำกิจกรรม ไอเรื้อรังแบบไม่มีเสมหะ แน่นหน้าอก และนิ้วปลายปุ้ม (finger clubbing) อีกทั้งการวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยเฉพาะ โดยร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนในระยะแรก เพราะอาการของโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีลักษณะคล้ายโรคทางเดินหายใจประเภทอื่น เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหอบหืด และภาวะหัวใจวาย (9)

โดยผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบอย่างเฉียบพลัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินของโรคและมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่เดือน พบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5-10 อาจจะมีอาการกำเริบภายในช่วงเวลาหนึ่งปี ภาวะอาการกำเริบอย่างเฉียบพลันนี้อาจเกิดได้เมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่มีอาการเตือนใดๆ และไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดได้ ดังนั้น จึงมีความต้องการการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการชะลอการดำเนินของโรค

"เนื่องด้วยโรคนี้เป็นโรคที่พบได้น้อย และไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของโรคนี้ดีพอและเกิดภาวะเครียดและท้อแท้ใจ ทั้งนี้ช่วงเวลาระหว่างเริ่มแสดงอาการจนถึงการวินิจฉัยโรคได้ โดยเฉลี่ยใช้เวลานานถึง 1-2 ปี และหลังจากนั้นก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่นาน สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อสังเกตเห็นอาการควรไปพบแพทย์ทันที" ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กมล แก้วกิติณรงค์ กล่าว

"เป็นโชคดีของผู้ป่วยในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีการรักษาแบบใหม่ที่ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าสามารถชะลอภาวะการเสื่อมของปอดลงได้ประมาณร้อยละ 50 ต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเกิดภาวะอาการกำเริบอย่างเฉียบพลันของโรคได้เกือบถึงร้อยละ 47 ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กมล กล่าวเสริม

คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้น สามารถสังเกตให้เห็นได้สองด้าน ได้แก่ ด้านอาการและด้านผลกระทบ ในแง่ของอาการ ความถี่ของการไอ หายใจลำบาก เสียงหายใจวี้ด และปริมาณเสมหะน้อยลง (เสมหะถูกขับออกมาจากทางเดินหายใจ) ส่วนด้านผลกระทบ นั่นคืออาการตื่นตระหนกและการใช้ยาลดลง รบกวนชีวิตประจำวันน้อยลง [หมายเหตุ: ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ประเมินในแบบสอบถามชื่อเซนต์จอร์จ ที่ถามเรื่องโรคทางเดินหายใจ ซึ่งแบบสอบถามนี้ใช้ในการประเมินคุณภาพชีวิตในการทดลองทางคลินิก]

"สิ่งที่สำคัญ ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันที่สังเกตอาการได้ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการคล้ายโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น โรคหอบหืดหรือภาวะโรคหัวใจที่รักษาหายได้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กมล กล่าวปิดท้าย

สำหรับการวินิจฉัยโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ นั้นมีวิธีการตรวจเฉพาะ เช่น การตรวจวิเคราะห์เลือด ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และตรวจสมรรถภาพของปอดหรือที่เรียกว่า spirometry รวมทั้งการถ่ายภาพปอดโดยใช้ซีที สแกน (CT scan) ที่แสดงรายละเอียดภาพที่มีความคมชัดสูง (HRCT) ในบางกรณีอาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจหลอดลมและการตัดชิ้นเนื้อปอดเพื่อวิเคราะห์ร่วมด้วย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit