กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือดีป้า เปิดเวทีเสวนา “คิดอย่างไรถ้าภาครัฐ เปิด Open Data” ร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพ

02 Apr 2018

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในเวที เสวนาหัวข้อ "คิดอย่างไรถ้าภาครัฐ เปิด Open Data" ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า/DEPA) จัดขึ้น ณ Glowfish Sathorn ว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ดีป้าจัดเวทีเสวนาดังกล่าวขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในการนำข้อมูลภาครัฐไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยในปัจจุบันรัฐบาลเห็นความสำคัญของ Big Data และต้องการให้เกิดการนำข้อมูลภาครัฐไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว

กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือดีป้า เปิดเวทีเสวนา “คิดอย่างไรถ้าภาครัฐ เปิด Open Data” ร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพ

การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เกิดจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกกระทรวงร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ ขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลของแต่ละกระทรวงมาบูรณาการให้เกิดมิติข้อมูลใหม่ สามารถวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ สร้างเป็นโมเดลวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์สร้างเป็นบริการภาครัฐที่มีความเหมาะสม ตรงตามความต้องการของประชาชน โดยเริ่มการขับเคลื่อนไปแล้วในหลายด้าน อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตุนิยมวิทยา หรือแม้กระทั่งกระทรวงยุติธรรม ที่มีการบันทึกข้อมูลของผู้กระทำผิดในรูปแบบสถิติ เพื่อใช้ในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศ ซึ่งปี 2561 ถือเป็นปีแห่งการทำ Big data และในที่สุดการเป็นรัฐบาลดิจิทัลจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา มีการฝึกอบรมบุคลากรเรื่อง Big Data เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สภาพอากาศ ตามบทบาทของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการพยากรณ์อากาศ ความปลอดภัยด้านการบิน การเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น การตรวจคลื่นความร้อน พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนเพื่อการเกษตร โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา (Solution) ด้านต่างๆ อาทิ การวางแผนการเดินทาง การส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การชมดอกไม้ การชมทะเลหมอก วางแผนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ผสมผสานกับข้อมูลการตรวจอากาศ ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และเรดาร์ตรวจอากาศ เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์อากาศที่มีรายละเอียดสูงในระดับตำบลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งการมีเครื่องมือสื่อสารการพยากรณ์อากาศที่ชัดเจนในหลายช่องทาง ทั้งทางสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัยเข้ากับยุค "ไทยแลนด์ 4.0" รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ และจัดการข้อมูล เพื่อพัฒนาผลผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนให้มีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด อาทิ ความปลอดภัยด้านการบิน การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความมั่นคง และความปลอดภัยในอนาคต

ในส่วนของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะ 21 สาขา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ เช่น กระทรวงแรงงานนำข้อมูลไปวางแผนหรือประเมินนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น

ด้านตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการส่งเสริม Open Data สามารถทำให้ Startup นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น Startup ธุรกิจเลี้ยงผึ้ง ซึ่งใช้อุปกรณ์ IoT Data ในการตรวจจับ คลื่นเสียงและใช้ Deep Learning ในการวัดปริมาณน้ำผึ้งภายในรัง โดยไม่ต้องเปิดดูรังผึ้ง ซึ่งจะเป็นการรบกวนผึ้ง และหากมีการเชื่อมโยง Platform Open Data กับหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ สามารถนำไป ต่อยอดได้หลากหลายขึ้น หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ต้องการสร้าง Data Platform และเปิดเป็นบริการให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ข้อมูลบางส่วนยังต้องการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนจากภาคเอกชนอยู่ ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนสูญเสียความได้เปรียบทางธุรกิจ และข้อมูล บางประเภทควรถือเป็นความลับเพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ อีกทั้งการนำ Open Data มาใช้แก้ปัญหาสังคมยังต้องการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สามารถเปิดเผยข้อมูลแต่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลไว้

สำหรับกระทรวงยุติธรรม ที่มีการทำศูนย์เก็บข้อมูลมาก่อนหน้านี้ โดยจะเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินให้จำคุกแต่ยังออกไปมีพฤติกรรมผิดซ้ำซากจนต้องได้รับการลงโทษใหม่ พวกเขาเหล่านั้น มีหน้าตาอย่างไร บุคลิกท่าทางเป็นอย่างไร เพื่อรวบรวมไว้เป็นสถิติด้านอัตลักษณ์ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับจากกลุ่มสตาร์ทอัพในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะนำไปใช้ประกอบการขับเคลื่อนการดำเนินการจัดทำ Big Data และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit