บทความ: เรียนรู้ ‘เยียวยาสังคมไทย’ ผ่านงานจิตอาสา

31 Jul 2010

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจ

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นเดือนที่ร้อนแรงที่สุดของประเทศไทย ที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการทางสังคมครั้งใหญ่ หลายพื้นที่โดนเผาไหม้ หลายคนไร้บ้าน ไร้อาชีพ และหลายคนเจ็บปวดกับการสูญเสียคนรัก แม้เหตุการณ์ได้ยุติลงแล้ว แต่สิ่งที่ตกค้างในจิตใจ มิอาจลบเลือนได้ ภาพอาคารที่ถูกเผาไหม้เสียหาย กองเถ้าถ่าน กลิ่นควันไฟ ความเศร้าโศก และคราบน้ำตา ยังปรากฏให้เห็น แต่ “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยเคยประสบวิกฤตที่ร้ายแรงเช่นกัน “สึนามิ” คลื่นยักษ์ได้ถาโถมดูดกลืนทุกอย่าง ทิ้งไว้เพียงความเจ็บปวด การสูญเสีย และความทรงจำที่เลวร้ายของผู้คนชายฝั่งทะเลอันดามัน หลายคนไร้บ้าน ไร้อาชีพ หลายคนไร้ญาติ ขาดมิตร แต่สังคมไทยไม่ไร้ซึ่งคนดี

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนรักท้องถิ่นในนาม เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนและชายฝั่งทะเลอันดามัน (Save Andaman Network: SAN) คือ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรชายฝั่งหลังสึนามิ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มดังกล่าวรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประสบภัยสึนามิในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

“บังหยาด” หรือ ประวิทย์ ลัดเลีย หนึ่งในอาสาสมัครเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน (Save Andaman Network) จังหวัดสตูล กว่า 5 ปีแล้วที่บังหยาดทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยรับผิดชอบดูแลเขตพื้นที่บ้านตันหยงอุมา ตันหยงกลิง บากันใหญ่ และยะระโต๊ดนุ้ย

บังหยาดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมือใหม่หัดเป็นอาสาสมัครว่า “หลังจากเกิดสึนามิ ผมเห็นความเสียหายมากมายเกิดขึ้นในหมู่บ้านหลอมปืน บ้านเกิดผมเอง ชาวบ้านเดือดร้อน ผมเป็นเยาวชนแกนนำหมู่บ้านเลยอยากเข้ามาช่วยเหลือ”

บังหยาดทำงานร่วมกับเพื่อนคู่ใจ ชัยรัตน์ แช่มศรี หรือ “เอก” อาสาสมัครหนุ่มไฟแรงจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ และถูกกดขี่ เพื่อมาทำงานจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม

แต่ในสนามจริง การทำงานไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อลงพื้นที่พวกเขากลับต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องกลุ่มอิทธิพลในหมู่บ้าน และปัญหาชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน ซ้ำร้าย เนื่องจากเอกเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้คนในชุมชนไม่ยอมรับ การเดินทางครั้งนี้ทำให้เอกเริ่มท้อแท้ หมดเรี่ยวแรงในการทำงาน แต่ด้วยกำลังใจของเพื่อนอาสาสมัคร ทำให้เอกลุกขึ้นสู้และทุ่มเทให้กับงานเพื่อสังคมอีกครั้ง และครั้งนี้เอกลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับชีวิตท้องถิ่นชาวเล

ส่วนบังหยาดนั้นก็ยอมรับว่าท้อมาก แต่พอมองเห็นปัญหาชาวบ้าน ทั้งปัญหายาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่น ปัญหาหนี้สิน ติดการพนัน ติดเหล้า และการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐที่เข้าไม่ถึงชาวบ้าน คนที่ได้รับผลประโยชน์จะเป็นผู้ใหญ่บ้านกับเพื่อนพ้อง แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ กลับไม่ได้รับการเหลียวแล บังหยาดจึงตั้งเป้าหมายในการทำงานว่า “อยากยกระดับสิทธิชุมชน”

“พอเรามองเห็นปัญหา เราทอดทิ้งพวกเขาไม่ได้ เราต้องช่วยกันแก้ไข แน่นอน คนๆเดียวแก้ไขไม่ได้หรอก แต่ถ้าร่วมมือกัน ผมว่ามันไม่ยากหรอก”

ในช่วงแรกสองหนุ่มอาสาสมัครได้ช่วยชาวบ้านซ่อมแซมบ้าน สร้างบ้านใหม่ แต่การช่วยเหลือไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขามองว่า การช่วยเหลือชุมชนไม่ใช่การลงมือแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แต่เป็นการผลักดันให้ชาวบ้านคิดเป็น และหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง ยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้

เอกและบังหยาดผลักดันให้ชาวบ้านจัดตั้งเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ให้ชาวบ้านรู้จักการออม เก็บเงิน และแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มแพปลาชุมชน อู่ซ่อมสร้างเรือ และร้านค้าชุมชน ทั้งนี้เพื่อสร้างงานสร้างรายให้แก่คนในชุมชน จากนั้นนำกำไรมาจัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคม กองทุนการศึกษา ทุนสำรอง และทุนสวัสดิการ พวกเขามองว่าตอนนี้โครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จมากกว่าห้าสิบเปอร์เซนต์ ชาวบ้านสามารถแก้ไขปัญหาในชุมชน และบริหารงานจัดการโครงการด้วยตนเอง ที่สำคัญการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เป็นตัวเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเกิดความรู้จัก สนิทสนมกันมากขึ้น มีความสามัคคี เห็นอกเห็นใจกัน และรู้จักเสียสละ

“ฟ้าสีดำกลายเป็นสีครามสดใส” จากคนไร้บ้าน หลายคนสร้างบ้านขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง จากชาวเลไร้เรือ หลายคนสร้างเรือขึ้นมาฝ่าเกลียวคลื่นออกเผชิญชีวิตอีกครั้ง

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่ได้รับรอยยิ้ม และความสุขกลับคืนมา คนที่ทำงานอาสาสมัครก็รู้สึกสุขใจไม่แพ้กัน บังหยาดบอกว่าการทำงานถึงแม้จะเหนื่อยกาย แต่ก็สุขใจที่ได้เห็นคนในหมู่บ้านมีรอยยิ้ม ซึ่งรอยยิ้มนี้เองทำให้บังหยาดมีกำลังใจในการทำงานอาสาสมัคร ส่วนเอกก็มีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากปัญหา และรู้สึกมีความสุขที่เห็นคนในชุมชนมีรอยยิ้ม สามารถพึ่งพาตนเองโดยไม่ตกเป็นทาสของนายทุน นอกจากนี้เขามองว่างานเพื่อชุมชนเป็นงานที่ท้าทาย ทำให้เขาได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นตลอดเวลา ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่มีในตำราเรียน เรียนรู้วิถีชีวิตในอีกแง่มุมที่เขาไม่เคยสัมผัส และได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเองให้มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง แต่สามารถอยู่รอดในระบบทุนนิยม

สิ่งที่ประเทศไทยต้องการตอนนี้หาใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็น “พลังแห่งความรัก” ที่จะช่วยเยียวยาความเสียหาย เริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ “ตัวเรา” ลองหยุดนิ่งสักนิด ทบทวนตัวเองสักหน่อย หันหน้าเข้าหากัน ใช้พลังของตนเองให้ถูกทาง และจับมือกันช่วยกันแก้ไขปัญหา เชื่อว่าภาพ “ความรัก-ความสามัคคี” ที่เคยมีอยู่ในสังคมไทย คงจะฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

ภาพการทำงานของ SAN คงจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่า ไม่ว่าเราจะเจอปัญหา อุปสรรค หรือวิกฤตร้ายแรงเพียงใด หากเราร่วมมือ ร่วมใจกัน มีความรัก สามัคคี ปรองดอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูความเสียหายก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ทีมงานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล นันทพร คำยอด (นุ้ย) โทร.02-270-1350

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit