ก.ศึกษาร่วม ”มหาวิทยาลัยอมตะ” พัฒนาบุคลากรชั้นสูงรับอีอีซี ดึงหลักสูตรมหาวิทยาลัยไต้หวันร่วมสร้างมิติใหม่การศึกษาไทย

07 Aug 2018

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยในพิธีลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) กระทรวงศึกษาธิการ และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University)" โดยเริ่มต้นด้วยหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) หรือวิศวกรรมการผลิตอัจฉริยะว่า การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาที่เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ จัดหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวที่เป็นมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการจัดอันดับ โดย QS 2017 World University Rankings by Subject (Engineering and Technology) ให้อยู่ในลำดับที่ 23 ของโลก มาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ก.ศึกษาร่วม ”มหาวิทยาลัยอมตะ” พัฒนาบุคลากรชั้นสูงรับอีอีซี ดึงหลักสูตรมหาวิทยาลัยไต้หวันร่วมสร้างมิติใหม่การศึกษาไทย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอมตะ เป็นการจัดตั้งขึ้นตามระเบียบข้อบังคับทางการศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เพื่อส่งเสริม พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ สามารถเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยได้ในพื้นที่ อีอีซี และได้รับการรับรองการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่มีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษาของไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่จะนำมาสู่การพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตของมหาวิทยาลัยอมตะ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอมตะจะตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของเมืองอมตะ ซิตี้ ชลบุรี เป็นส่วนหนึ่งใน "โครงการเมืองการศึกษาอมตะ" หรือ AMATA EDUTown เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA SMART CITY) ในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายการพัฒนาระบบการศึกษา (Smart Education) จึงคัดเลือกหลักสูตร ของมหาวิทยาลัยไต้หวันซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกด้านวิศวกรรม ที่ตรงกับความต้องการของตลาด มาเปิดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรแรกในระดับปริญญาโท โดยเบื้องต้นจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี ในไทยและในไต้หวัน โดยมุ่งเน้นพัฒนาสายการผลิตที่เป็นระบบยานยนต์แห่งอนาคต ตามความต้องการหลักของผู้ผลิตในพื้นที่อีอีซี และคาดว่าจะเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 1 ภายในปลายปี 2562 นี้

"การจัดตั้งมหาวิทยาลัยอมตะโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ในครั้งนี้นับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการศึกษาไทย และเป็นโครงการนำร่องด้วยการนำหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาการผลิตอัจฉริยะที่เป็นมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และผู้ที่จบการศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้รับการรับรองจากทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลไต้หวันเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน" นายวิกรมกล่าว

นอกจากนี้อมตะยังได้เตรียมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงติด QS TOP 100 ของโลกอีกหลายแห่ง เพื่อมาเปิดหลักสูตรเฉพาะด้าน ภายในพื้นที่โครงการเมืองการศึกษาอมตะ AMATA EDUTown เพื่อเดินหน้าพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit